มิว สเปซ ประกาศราคาขาย “ดาวเทียมสัญชาติไทย” เริ่มต้น 134 ล้านบาท

พร้อมจัดแสดงเทคโนโลยีอวกาศแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ข่าว PR Focus

mu Space and Advanced Technology Co., Ltd. หรือ บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มิว สเปซ) ผู้ผลิตชิ้นส่วนการบินและอวกาศ และผู้ให้บริการการสื่อสารผ่านดาวเทียม ประกาศราคาดาวเทียมดวงแรกของมิว สเปซ Block 1 (MU-B200) ซึ่งเป็นดาวเทียมในวงโคจรต่ำ (LEO - Low Earth Orbit) ด้วยราคาเริ่มต้น 134 ล้านบาท (4 ล้าน USD) และมีกำลังการผลิตดาวเทียม 100 ดวงต่อปี มั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับอย่างดี เนื่องจากดาวเทียมของมิว สเปซ มีน้ำหนักเบาเพียง 200 กิโลกรัม, แบตเตอรี่ภายในดาวเทียมมีประสิทธิภาพสูง และสามารถให้พลังงานได้สูงสุดถึง 1,200 วัตต์ โดยมีการติดต่อสื่อสารผ่านคลื่นความถี่ V-Band ด้วยความเร็วสูงสุด 5 Gbps และมีอายุการใช้งานนานถึง 5 ปี

 

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา มิว สเปซ ได้จัดงาน Tech Day ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ นักลงทุน, สื่อมวลชน และ ลูกค้าได้เข้าชมภายในโรงงานเทคโนโลยีอวกาศแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มุ่งเน้นการออกแบบ, คิดค้น, วิจัย, พัฒนา, ผลิตชิ้นส่วน และประกอบดาวเทียมด้วยตนเองโดยเทคโนโลยีที่ใหม่และทันสมัย ตั้งแต่ขั้นตอนแรก ตลอดจนขั้นตอนสุดท้าย เพื่อให้ผู้เข้าชมโรงงานได้สัมผัสกับกระบวนการพัฒนาและผลิตดาวเทียม Block 1 (MU-B200) โดยภายในงาน นายเจมส์ วรายุทธ เย็นบำรุง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีบริษัทฯ เปิดเผยว่า “ศักยภาพและความสามารถในการดำเนินการทุกขั้นตอนได้ด้วยตนเองของมิว สเปซ นั้นทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตที่เกิดจากงบสั่งซื้อ และย่นระยะเวลาในการรอชิ้นส่วนจากบริษัทอื่นได้ จึงทำให้การผลิตดาวเทียมของมิว สเปซ สามารถผลิตได้ในราคาที่ประหยัดงบประมาณไปได้กว่าครึ่งของราคาดาวเทียมในตลาดโลกปัจจุบัน

 

หนึ่งในคุณลักษณะที่โดดเด่นของดาวเทียม MU-B200 นั่นก็คือ ระบบพลังงาน หรือ แบตเตอรี่ ที่มีการออกแบบมาเป็นอย่างดีในการให้พลังงานที่สูง รวมถึงมีอายุการใช้งานแบตเตอรี่ที่มากขึ้นถึง 2.75 เท่า พร้อมติดตั้งเซนเซอร์ติดตาม และควบคุมการใช้พลังงานให้อยู่ในระดับที่มีประสิทธิภาพสูงสุดได้อีกด้วย โดยในส่วนนี้ สามารถช่วยลดต้นทุนได้มากถึงร้อยละ 25 เลยทีเดียว

 

สำหรับ โรงงานแห่งที่ 2 ของมิว สเปซ ก่อสร้างขึ้นในช่วงต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งภายในโรงงานมีการพัฒนา และผลิตเทคโนโลยีหลายส่วนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเทคโนโลยีดาวเทียม, เทคโนโลยีแบตเตอรี่พลังงานสูง, เทคโนโลยีหุ่นยนต์, เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และการพิมพ์โลหะประเภทต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างการพิมพ์ 3 มิติ เพื่อนำมาใช้ในการประกอบชิ้นส่วนดาวเทียม โดยเป้าหมายของมิว สเปซ จากปัจจุบันที่ได้เปิดตัวโรงงานแห่งที่ 2 ณ สถานที่จัดงาน Tech Day นั้นสามารถผลิตดาวเทียมได้ 10 ดวงต่อปี และกำลังสร้างโรงงานแห่งที่ 3 ซึ่งจะทำให้ มิว สเปซ มีความสามารถในผลิตดาวเทียมได้สูงถึง 100 ดวงต่อปี นอกจากนั้น มิว สเปซ ยังมีแผนการสร้างโรงงานใหม่อีกหนึ่งแห่ง เพื่อผลักดันให้สามารถผลิตดาวเทียมได้มากขึ้นเป็น 200 ดวงต่อปี โดยมีแผนงานดังต่อไปนี้

 

  • ดาวเทียม Block 1 กลางปี 2022 เน้นการทดสอบ SINGLE SYSTEM MODEL TEST
  • ดาวเทียม Block 2 สิ้นปี 2022 เน้นการทดสอบ CONSTELLATION SYSTEM MODEL TEST
  • ดาวเทียม Block 3 2023-2024 เน้นการทดสอบ MEO-TO-GEO-TEST
  • ดาวเทียม Block 4 2025-2026เน้นการทดสอบ LUNAR TEST พร้อมทดสอบการรับส่งสัญญาณที่ระหว่างดวงจันทร์

 

นอกจากนี้ ภายในโรงงานได้มีการออกแบบและคัดสรรสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้การทำงานเกิดผลลัพธ์ที่ดี และมีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานระดับโลก ทั้งในส่วนของห้องปลอดเชื้อ, ห้อง ปฏิบัติการเคมี, พื้นที่ปฏิบัติการสำหรับเครื่องจักรหนัก และห้องปฏิบัติการวิจัยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมถึงในด้านบุคลากรมิว สเปซ มุ่งเน้นคัดบุคลากรที่มีความสนใจ, มุ่งมั่น, กล้าเปิดรับและพร้อมลงมือทำสิ่งที่ท้าทายในมุมใหม่ ๆ สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศ เพราะเชื่อว่าส่วนนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การทำงานของบุคลากรมีคุณภาพ และสามารถส่งมอบดาวเทียมที่มีประสิทธิภาพสูงให้แก่ลูกค้าได้

 

ภายในงาน ยังมีในส่วนของการพูดคุย และวิเคราะห์ถึงประเด็นที่น่าสนใจอย่างเรื่องความพร้อมของทุกภาคฝ่าย และผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และระดับโลกในอนาคตของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อสร้างความเข้าใจในอุตสาหกรรมอวกาศ และทำความรู้จักกับมิว สเปซ มากยิ่งขึ้น นำโดย นายเจมส์ วรายุทธ เย็นบำรุง พร้อมด้วย ดร. ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (Gistda) และ คุณสุทธิชัย หยุ่น ผู้ก่อตั้งบริษัท กาแฟดำ จำกัด ซึ่งจากการพูดคุยบนเวทีในครั้งนี้ของทั้ง 3 ท่านทำให้เห็นว่า ประเทศไทยพร้อมแล้วกับอุตสาหกรรมนี้

 

โดยมิว สเปซ ได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนชั้นนำอย่างบริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ - อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าเอกชนของไทย รวมถึงบริษัท Majuven Fund พร้อมกลุ่มนักธุรกิจเอกชนต่าง ๆ เช่น ผู้บริหารจากมูลนิธิมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) รวมทั้งนักลงทุนรายอื่น ๆ อีกมากมาย

News PRfocus
News PRfocus
News PRfocus
     
 
บริษัท พีอาร์ โฟกัส จำกัด
เลขที่ 9/134 หมู่บ้านทองสถิตย์ 9 วิลล่า ถนนวัชรพล แขวงคลองถนน เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร 10220

Offfice : 02-654-7551-2 Fax : 02-654-7553 Email : prfocus@truemail.co.th

Copyright©prfocus 2015 , Allright Reserve.